การรวม VCD ลงแผ่น DVD ตอนที่ 1
ในปัจจุบันเครื่องเขียน DVD กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแผ่น DVD มีความจุมากกว่าแผ่น CD ทั่วๆไปหลายเท่า ประกอบกับวีดีโอซีดีส่วนใหญ่ 1 เรื่องจะใช้แผ่น CD ประมาณ 2 แผ่น ผู้ใช้บางคนสะสมแผ่นวีดีโอซีดีไว้เป็นจำนวนมาก จึงต้องการรวมวีดีโอซีดีหลายๆเรื่องรวมลงในแผ่น DVD เพียงแผ่นเดียว คุณภาพของภาพที่ได้ก็จะเท่ากับวีซีดี นอกจากจะประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บแล้ว เวลาเปิดชมก็ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นไปมา มีเมนูให้เลือกว่าจะเลือกชมเรื่องใด รวมทั้งยังได้ความภูมิใจ (รึเปล่า?) ที่ได้สร้างแผ่น DVD เถื่อนด้วยตัวของคุณเอง ฮา...
ตัวอย่างที่จะนำมาเสนอนี้ เป็นการทำ DVD แผ่นรวม VCD ด้วยโปรแกรม TMPGEnc DVD Author 1.6 (1.5 ก็ใช้ได้เหมือนๆกัน)
http://www.pegasys-inc.com ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับเขียน DVD ซึ่งมีการใช้งานที่ง่าย หลังจากเขียนแล้ว เมื่อเปิดชมก็จะมีเมนูให้เลือกรายการที่จะเล่น
ขั้นตอนหลักๆของโปรแกรมก็คือ
1. เลือกไฟล์ที่จะเขียน DVD
2. สร้างเมนูสำหรับเลือกรายการ
3. เขียนข้อมูล DVD ลงฮาร์ดดิสก์ จากนั้นจึงเขียนข้อมูลลงแผ่น DVD
ไฟล์วีดีโอที่นำมาเสนอนี้ เป็นไฟล์วีดีโอส่วนตัว เพราะไม่มีวีดีโอซีดีสำหรับทำเป็นหนังมาทำเป็นตัวอย่าง แต่ก็ทำงานเหมือนๆกัน
ในการเตรียมไฟล์ที่จะนำมาทำ DVD นั้น ให้แปลงไฟล์จากวีดีโอซีดี (*.dat อยู่ในโฟลเดอร์ MPEGAV) มาเป็น *.mpg เสียก่อน โดยใช้ vcdgear จาก
http://www.vcdgear.com (ไม่แนะนำให้ใช้แบบ Rename)
หน้าต่างหลักของโปรแกรม มีส่วนของ Source Setup เลือกไฟล์ที่จะนำมาเขียน Create Menu สร้างเมนูสำหรับเลือกแทร็ค (เรื่องของวีดีโอซีดี) และ Output เขียนไฟล์/โฟลเดอร์ของ DVD ลงฮาร์ดดิสก์ และส่วนของ Tools Menu เป็นเครื่องมือสำหรับเขียนไฟล์/โฟลเดอร์ของ DVD ลง DVD-R/RW หรือเป็นไฟล์ ISO เป็นต้น
กดปุ่ม Options เลือก Environmental settings เพื่อปรับแถบแสดงความจุของแผ่น DVD (อาจจะไม่จำเป็นต้องเลือกก็ได้)
เริ่มต้นการสร้างแผ่นรวม VCD ด้วยการกดปุ่ม Create new project หรือกดปุ่ม Source setup
หน้าต่างหลักของ Source setup การเพิ่มไฟล์ให้กับแทร็ค ให้เรากดปุ่ม Add file แล้วเลือกไฟล์ *.mpg ที่เราได้สร้างไว้สำหรับวีดีโอซีดีแต่ละเรื่อง
หลังจากเพิ่มไฟล์เข้ามาแล้ว จะปรากฏหน้าต่างด้านล่างอัตโนมัติที่ Clip information จะเห็นข้อมูลต่างๆของวีดีโอที่คุณเพิ่มเข้ามา
หมายเหตุ :
ขณะที่เพิ่มไฟล์เข้ามานั้น อาจจะมีกรอบแสดงข้อมูลเรื่อง GOP นั้น หากมี Ignore ให้กด Ignore ไป เท่าที่ลองใช้ดูแล้ว DVD ก็สามารถเปิดได้ (ต้องลองกับเครื่องเล่น DVD แต่ละเครื่องเอง) แต่หากมีปัญหาเรื่อง GOP จะต้องนำไปทำการเข้ารหัสใหม่ โดยใช้ TMPGEnc โดยให้ระบุ GOP สูงสุดที่ 15 สำหรับ VCD ระบบ PAL
คลิกที่ Chapter cut edit เป็นการตัดช่วงของวีดีโอที่ไม่ต้องการออกไป (ไม่นำไปรวมในแผ่น DVD ต้นฉบับยังคงเดิม) การตัดนั้น ให้เลื่อนแถบเลื่อนไปยังจุดที่ต้องการ แล้วกดปุ่ม Set as start frame เป็นการกำหนดจุดเริ่มต้นที่จะตัด แล้วเลื่อนแถบเลื่อนไปยังจุดสุดท้ายของเฟรมที่ต้องการตัดออก แล้วกดปุ่ม Set as end frame แล้วกดปุ่ม Edit menu เลือกรายการ Cut currently seleted range ก็จะเป็นการตัดส่วนที่เลือกไว้ออกไป
ในการกำหนดตอน (Chapter) ที่ต้องการให้เครื่องเล่นกระโดดไปยังตอนที่กำหนดไว้ ซึ่งมีประโยชน์มากในกรณีที่ต้องการให้เครื่องเล่นเล่นตอนที่เรากำหนดไว้ โดยไม่ต้องรอให้เล่นถึงตามปกติ ช่วยให้เราร่นเวลาไปได้พอสมควร ให้เราเลือกเฟรมที่เป็นจุดที่เราต้องการให้เครื่องเล่นกระโดดมาจุดนี้ แล้วกดปุ่ม Add current frame to chapter เฟรมที่เรากำหนดไว้ก็จะปรากฏอยู่ใน Chapter list ซึ่งจะแสดงช่วงเวลาของวีดีโอ ณ จุดนั้นด้วย หากต้องการลบบางตอนออก ให้เลือกตอนที่ต้องการ แล้วกดปุ่ม Delete เมื่อเลือกได้ตามต้องการแล้ว กดปุ่ม OK
แทร็ค ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เหมือนกับเป็นเรื่องของวีดีโอซีดีแต่ละเรื่องนั่นแหล่ะ แทร็คหนึ่งก็เรื่องหนึ่ง ในหนึ่งแทร็ค เราจะเพิ่มกี่ไฟล์ก็ได้ เช่นวีดีโอซีดีของคุณ 1 เรื่องมี 2 แผ่น แต่ละแผ่นก็เป็นไฟล์ 1 ไฟล์ (คลิป) 2 แผ่นก็ 2 ไฟล์ (ในกรณีไม่ได้รวมเป็นไฟล์เดียวกัน) ก็ให้เพิ่มไฟล์เข้าไปในแทร็คเดียวกัน (กดปุ่ม Add file) แล้วก็อาจจะตั้งตอนในแต่ละไฟล์ก็ได้ โดยกดปุ่ม Edit
เรื่องต่อไปก็ให้เพิ่มแทร็คใหม่ โดยการกดปุ่ม Add new track แล้วก็กดปุ่ม Add file เพื่อเพิ่มไฟล์วีดีโอให้กับแทร็คใหม่ เมื่อเพิ่มไฟล์เข้าไปแล้ว หากต้องการแก้ไข ให้เลือกไฟล์ที่ต้องการ แล้วกดปุ่ม Edit ก็จะเข้าไปยังส่วน Clip information และ Chapter cut edit
ในช่องรายการแทร็ค ให้คลิกที่ปุ่ม Settings เพื่อเปลี่ยนชื่อแทร็ค ซึ่งชื่อนี้จะปรากฏในรายการเมนู ถ้าเป็นของคุณก็ตั้งชื่อเรื่องของแผ่นวีดีโอซีดี สำหรับเรื่องต่อไปก็กดปุ่ม Add new track แล้วก็เพิ่มไฟล์เข้ามาโดยการกดปุ่ม Add file เหมือนกับขั้นตอนตามที่กล่าวมาแล้ว
ตัวอย่าง หลังจากที่ได้เพิ่มแทร็คและไฟล์ต่างๆ เพื่อนำมาเขียนเป็น DVD
เหตุผลของการไม่แนะนำ Rename :
A DAT file is basically an MPEG file with the exception that it is bigger - but for a good reason. A DAT file contains extra information inside such as error correction information and extra sector information, but it also contains the MPEG stream. The MPEG file, of course, does not contain all the extra data that a DAT contains and is smaller.
และอาจจะมีปัญหาในภายหลัง (ไม่แน่ใจ) ยังไม่ได้ลอง และอีกอย่างหนึ่งในพันธ์ทิพย์แนะนำกันเยอะครับว่าแปลง *.dat เป็น *.mpg ก็ใช้ Rename เอา บางโปรแกรมอาจจะไม่ Support ก็ได้ ดังนั้น จึงแนะนำใช้โปรแกรมเฉพาะทางที่เขาทำมาดีกว่า อย่าง *.dat นี่เคยลองเล่นๆ ใช้ TMPGenc Plus แปลงมาเป็น *.mpg กับ VCDGear นี่ ไฟล์ออกมาเท่ากันทุกไบต์ แต่เวลาผิดกันเยอะเลย VCDGear ใช้เวลาประมาณ 2 นาที
### การรวม VCD ลงแผ่น DVD ตอนที่ 2 ### สร้างเมนู
หลังจากที่ได้เพิ่มไฟล์ของวีดีโอซีดีต่างๆแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการทำเมนูสำหรับเลือกรายการหนังที่ต้องการชม การทำเมนูสำหรับเลือกรายการนี้ มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน (ขึ้นอยู่กับธีมหรือแม่แบบของเมนูที่เราเลือก) ในที่นี้จะขอเสนอรูปแบบเมนูง่ายๆ นั้นก็คือ มีภาพวีดีโอสั้นๆของแต่ละแทร็ก (อย่างที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า แทร็กหนึ่งก็เหมือนกับหนังวีดีโอซีดีเรื่องหนึ่ง) อยู่ที่ด้านหน้า วีดีโอซีดี 3 เรื่องก็ 3 ภาพ เมื่อใส่แผ่น DVD ในเครื่องเล่นก็จะแสดงเมนูให้เลือกว่าจะเล่นเรื่องไหน หลังจากเลือกรายการ ก็จะเล่นแทร็ก (หนัง) นั้นจนจบ เมื่อจบแล้วก็จะกลับมาแสดงหน้าเมนูเหมือนเดิม รูปแบบที่จะนำเสนอนี้ จะไม่มีการแสดงรายการ Chapter ให้เลือก (ทั้งๆที่อาจจะเลือก Chapter ไว้แล้ว) เมื่อเข้าใจเรื่องเมนูต่างๆแล้ว ก็สามารถทำเมนูแบบมี Chapter ให้เลือกได้อย่างไม่ยากนัก
เข้าสู่การสร้างเมนู ให้คลิกที่ปุ่ม Create Menu เพื่อสร้างเมนูสำหรับเลือกรายการ จากนั้นให้คลิกที่ธีมหรือแม่แบบเมนูของ DVD ที่โปรแกรมกำหนดไว้แล้ว ในที่นี้ให้เลือก Cloud 1 ในภาพตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าหลังจากที่คลิกเลือก Cloud 1 แล้ว ก็จะมีภาพวีดีโอเล็กๆอยู่ 3 ภาพปรากฏ ซึ่งภาพวีดีโอแต่ละภาพนั้น ก็คือเฟรมแรกของแทร็คแต่ละแทร็คนั้นเอง และด้านล่างของภาพก็คือชื่อของแทร็กแต่ละแทร็คที่ได้ตั้งชื่อไว้ตั้งแต่ตอนแรก
คลิกที่ปุ่ม Menu display settings เพื่อตั้งค่าต่างๆเกี่ยวกับการแสดงเมนู
ในกรอบ Display menu settings นั้น ให้คุณเลือก Only Main menu ซึ่งเป็นการแสดงเฉพาะเมนูหลักเท่านั้น (เมนูหลักก็คือเมนูแรกที่แสดงเมื่อเปิด DVD แล้วเห็นรายการหนังต่างๆให้เลือก)
ในช่อง Firstplay action หมายถึงสิ่งแรกที่จะให้ทำเมื่อใส่แผ่น DVD ในเครื่อง ให้เลือก Display Main menu คือแสดงเมนูหลักที่มีรายการหนังให้เลือก
Action to take after each track has been played. เมื่อเล่นหนังแต่ละเรื่อง (แทร็ค) จบแล้วจะให้ทำอะไร ให้คุณเลือก Display Main menu คือเมื่อเล่นจบแต่ละเรื่องแล้วให้กลับมาแสดงหน้าเมนูหลัก เพื่อเลือกหนังเรื่องอื่นๆต่อ
ภาพวีดีโอเล็กๆที่อยู่หน้าเมนูหลักนั้น สามารถแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ตามจำนวนเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดแล้วก็จะกลับไปแสดงภาพเริ่มต้นใหม่ ซ้ำๆกันกว่าจะเลือกรายการ (หากเคยเห็น DVD ที่มีภาพเล็กๆให้เลือก ก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน)
ให้คุณทำเครื่องหมายถูกหน้า Use motion menu และหน้าข้ออื่นๆทุกข้อ ส่วน Length of the motion menu นั้น ให้กำหนดจำนวนเวลาหน่วยเป็นวินาทีที่จะให้ภาพวีดีโอภาพเล็กๆที่หน้าเมนูหลักเล่น เมื่อครบเวลาที่กำหนด ก็จะกลับไปเล่นเฟรมแรกซ้ำ
ตัวอักษรชื่อแทร็กยังอ่านไม่ออก เพราะว่าฟ้อนต์ตัวอักษรไม่ใช่ฟ้อนต์ภาษาไทย การเปลี่ยนฟ้อนต์ ให้คลิกปุ่ม Edit แล้วเลือก Set font for all pages เพื่อเลือกฟ้อนต์ที่เป็นภาษาไทย ในตัวอย่างเลือก tahoma (ปุ่ม Edit ในภาพนั้น เมนูแสดงทับ ทำให้ไม่เห็นปุ่ม Edit) หากต้องการเปลี่ยนสีของตัวอักษรให้เลือก Set font color for all pages
เมื่อกำหนดฟ้อนต์ได้แล้ว ตัวอักษรก็จะแสดงผลเป็นภาษาไทย สิ้นสุดการตั้งค่าเมนูแล้ว แค่นี้ก็สามารถนำไปเขียนเป็น DVD ได้แล้ว
แต่หากต้องการปรับแต่งเพิ่มเติม ภาพหลังฉากของเมนูที่โปรแกรมให้มา (เลือกจากธีม Cloud 1) อาจจะไม่ถูกใจ หรืออยากจะใส่รูปภาพสวยๆของเราลงไป ก็สามารถเปลี่ยนภาพหลังฉากได้ โดยให้คลิกเม้าส์ที่ภาพหลังฉาก แล้วจะปรากฏไดอะล็อคบ๊อกขึ้นมา ให้เลือกภาพที่คุณต้องการ แล้วกดปุ่ม Open
คุณก็จะได้ภาพสวยๆที่ถูกใจคุณมาเป็นภาพหลังฉากของ DVD แล้ว และเท่านั้นยังไม่พอ จริงๆแล้วยังเราสามารถนำภาพเคลื่อนไหว (ไฟล์ *.mpg) มาเป็นภาพหลังฉากได้เช่นกัน ในส่วนของภาพเล็กที่เป็นภาพของแทร็คแต่ละแทร็ค หรือหนังวีซีดีแต่ละเรื่องนั้น หากต้องการเปลี่ยนก็สามารถทำได้ ให้คลิกบนภาพเล็กของแทร็คที่ต้องการ ก็จะปรากฏกรอบขึ้นมา ให้เลื่อนหาภาพที่ต้องการ แล้วกดปุ่ม OK
ภาพของแทร็คที่เปลี่ยนนี้จะแสดงที่เมนูหลักเท่านั้น เมื่อเลือกแทร็ค ก็จะเป็นการเล่นที่เฟรมแรกของแทร็ค ไม่ใช่กระโดดมาเล่น ภาพที่เป็นภาพของแทร็คที่เลือกไว้ ดังนั้นในหนังที่คุณนำมาทำเป็น DVD นี้ คุณก็อาจจะเลือกภาพตอนสำคัญๆของแต่ละเรื่องนำมาทำเป็นภาพของแทร็ค เพื่อเปิดเมนูขึ้นมาแล้ว ดูน่าสนใจอยากที่จะชมหนังเรื่องนั้นๆ ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของคุณหล่ะครับ
ตัวอย่างของภาพเมนูที่เปลี่ยนภาพหลังฉากและภาพเล็กของแทร็ค หลังจากเขียนเป็น DVD เมื่อเปิด DVD ภาพเล็กของแทร็คก็จะแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว ประมาณ 15 วินาที (หรือตามที่กำหนดไว้) หากไม่มีการเลือกรายการใดๆ ก็จะแสดงภาพเคลื่อนไหววนซ้ำๆกัน
### การรวม VCD ลงแผ่น DVD ตอนที่ 3 ### เขียนข้อมูล DVD ลงฮาร์ดดิสก์ (ตอนสุดท้าย)
ขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างแผ่นรวม VCD ที่ไม่ท้ายสุด (เอ๊ะ!!! มันเป็นไงกันแน่เนี่ย) คือขั้นตอนการเขียนรวม VCD มีอยู่ 3 ตอน
ตอนแรก เพิ่มไฟล์วีดีโอซีดีเข้าไปยังแทร็คต่างๆ (Source setup)
ตอนที่ 2 คือสร้างเมนูสำหรับเลือกแทร็คต่างๆ (Create menu)
และสุดท้าย คือ การเขียนไฟล์ DVD ลงฮาร์ดดิสก์ (Output)
ที่จะกล่าวต่อไปเป็นตอนสุดท้ายคือเขียนลงฮาร์ดดิสก์ แต่ที่ไม่ท้ายสุดก็คือ แม้ว่าเราจะเขียนข้อมูลลงฮาร์ดดิสก์แล้ว มันก็ยังไม่ได้มีการเขียนลงแผ่น DVD จริงๆ ดังนั้นต้องมีอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ การเขียนลงแผ่น DVD นั่นเอง
เมื่อเขียนข้อมูล DVD ลงฮาร์ดดิสก์แล้ว คุณก็สามารถเปิดดูผลงานของคุณได้ก่อนที่จะเขียนข้อมูลลง DVD ใน TMPGEnc DVD Author นี้ มี DVD Writing Tool ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยเขียนข้อมูล DVD ของคุณลงแผ่น DVD, ลบแผ่น DVD-+RW, สร้างไฟล์ .ISO จากข้อมูล DVD หรือเขียนไฟล์ .ISO ลงแผ่น DVD
เริ่มต้นการเขียนข้อมูล DVD ลงฮาร์ดดิสก์ คลิกปุ่ม Output ระบุชื่อไดรฟ์และโฟลเดอร์ที่จะเก็บข้อมูล DVD ลงในช่อง Output folder หรือกดปุ่ม Browse เพื่อเลือกไดรฟ์และโฟลเดอร์ที่ต้องการ
คลิกปุ่ม Begin output เพิ่มเริ่มเขียนข้อมูล DVD ลงฮาร์ดดิสก์ แล้วก็นั่งรอไปสักพักใหญ่
โปรแกรมกำลังเขียนข้อมูลลงฮาร์ดดิสก์
เมื่อเขียนเสร็จ ก็จะปรากฏหน้าต่าง Outputting complete ในหน้าต่างนี้จะมีสองทางเลือก นั่นก็คือหากกดปุ่ม Open DVD Writing Tool จะเป็นการเปิดเครื่องมือสำหรับจัดการกับข้อมูล DVD ที่เพิ่งเขียนเสร็จ หรือกดปุ่ม OK เพื่อจบขั้นตอนการเขียนข้อมูล DVD ลงฮาร์ดดิสก์ สำหรับข้อมูล DVD นี้ เราสามารถเปิดขึ้นมาเขียนเป็น DVD ในภายหลังได้ และตัวอย่างนี้เลือกกดปุ่ม OK เพื่อสิ้นสุดการเขียนข้อมูล DVD ลงฮาร์ดดิสก์
หลังจากที่ได้เขียนข้อมูลลงฮาร์ดดิสก์ คุณก็อาจจะทดสอบผลงานของคุณก่อนว่า ทำงานได้ตรงกับความต้องการหรือไม่ เมื่อทำงานได้ตรงกับความต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เขียนลงแผ่น DVD หรือท่านที่ยังไม่มีเครื่องเขียน DVD หรือมีแต่แผ่น DVD หมด ก็อาจจะสร้างไฟล์ *.ISO เก็บไว้ก็ได้ แล้วก็นำไป mount กับไดรฟ์ DVD จำลอง เช่น Alcohol 120%, Daemon-tools เป็นต้น จำลองเหมือนกับเป็นไดรฟ์ DVD เมื่อต้องการดูผลงาน ก็เปิดโปรแกรม เช่น Power DVD หรือโปรแกรมอื่นๆขึ้นมา แล้วเลือกไดรฟ์ DVD จำลอง เท่านี้คุณก็สามารถดู DVD ได้เหมือนกับเป็นไดรฟ์ DVD จริงๆ และหากต้องการเขียนไฟล์ *.ISO ลง DVD ก็มีเครื่องมือสำหรับทำงานนี้เช่นกัน
การเขียน DVD ต่อไปนี้ เป็นการเขียนข้อมูลจากโฟลเดอร์ DVD ที่เราได้สร้างไว้แล้วลงแผ่น DVD-R/RW เพื่อนำไปเปิดกับเครื่องเล่น DVD ใส่แผ่น DVD-R/RW ในไดรฟ์เครื่องเขียน DVD เปิดโปรแกรม TDA ขึ้นมา แล้วเลือกรายการ Write DVD folder to DVD R/RW
กดปุ่ม Browse เลือกโฟลเดอร์ DVD ที่เราได้สร้างไว้แล้ว เลือกความเร็วในการเขียน DVD ตั้งชื่อดิสก์ในช่อง Disk label แล้วกดปุ่ม Write DVD เพื่อเริ่มเขียนข้อมูล DVD ลงแผ่น DVD
สำหรับเครื่องมือเขียนนั้น นอกจาก Write DVD ซึ่งเป็นการเขียนข้อมูลจากโฟลเดอร์ DVD แล้ว ก็ยังมี Erase ลบ, Create ISO image เป็นการเขียนข้อมูลเป็นไฟล์ *.ISO (ใช้ mount กับ DVD จำลอง) หรือเขียน ISO เป็น DVD เลือกเครื่องมือสำหรับใช้งานได้ตามต้องการ
การเขียนเป็นไฟล์ *.ISO เมื่อคุณเปิดโฟลเดอร์ DVD ขึ้นมา แล้วก็คลิกปุ่ม Create ISO image แล้วก็เลือกว่าจะเก็บไฟล์ไว้ที่ไดรฟ์/โฟลเดอร์ไหน ตั้งชื่อ แล้วก็รอ โปรแกรมจะเขียนเป็นไฟล์ *.ISO ให้ทันที
ส่วนการเขียน ISO เป็น DVD ก็ใส่แผ่น DVD เข้าไป แล้วกดปุ่ม ISO->DVD เลือกไฟล์ *.ISO แล้วก็รอ จนกว่าจะเขียนเสร็จ
จากนั้นโปรแกรมจะแสดงข้อมูลการเขียน และถาม ให้กดปุ่ม OK
แล้วก็นั่งรอสักพักใหญ่ๆ ระหว่างนั้นก็หาอะไรทำแก้เซ็งไปพลางๆ
และแล้ว... แผ่น DVD รวมวีดีโออย่างที่คุณรอคอยก็มาถึงแล้ว เสร็จแล้วครับ ขอแสดงความยินดีกับคุณด้วยครับ ที่คุณมีแผ่น DVD เถื่อนเป็นของตัวเองแล้วครับ :-)
ความเห็นจากผู้เขียนบทความ :
ในปัจจุบันถึงแม้ว่าผู้อ่านแต่ละท่าน อาจจะยังไม่มีเครื่องเขียน DVD ทุกคนก็ตาม ถึงกระนั้น คุณก็สามารถที่จะทดลองทำตามขั้นตอนต่างๆนี้ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องรอว่าต้องมีเครื่องเขียนก่อนแล้วค่อยมาทำตาม คุณสามารถเขียนข้อมูลเป็นไฟล์ลงในฮาร์ดดิสก์ ก็สามารถเปิดดู DVD ได้แล้ว หรืออาจจะเก็บเป็นไฟล์ *.ISO ก็ได้ แล้วก็ mount กับพวก DVD จำลอง ก็สามารถมีไดรฟ์ DVD แล้วครับ เมื่อมีเครื่อง ก็เขียนลง DVD ได้เลย
การเขียน DVD นั้น ใช้เวลานานพอสมควร เพราะมีสองขั้น ตอนคือเขียนลงฮาร์ดดิสก์ และการเขียนลงแผ่น DVD แต่ละขั้นตอนก็ใช้เวลานาน ดังนั้นจึงแนะนำว่า หากคุณฝึกทำขั้นตอนการรวมแผ่น VCD นี้ ให้ตัดไฟล์วีดีโอนี้เหลือสักประมาณ 5-10 วินาที/แทร็คเท่านั้น (5-10 วินาที ไม่ได้พิมพ์ผิด) ส่วนการตัดนั้นให้อ่านบทความตอนที่ 1 คือเมื่อเพิ่มไฟล์วีดีโอเข้ามาแล้ว ให้ตัดเหลือ 5-10 วินาทีของแต่ละแทร็ค คือถ้าแทร็คหนึ่งมี 2-3 ไฟล์ ก็ลองใช้เพียงไฟล์เดียวก่อน ทำให้ครบทุกแทร็ค จากนั้นก็ให้สร้างเมนูตามขั้นตอนต่างๆจนจบ แล้วลองเขียนดู
ที่แนะนำเช่นนั้น ก็เพราะว่าคุณจะได้เสียเวลาน้อยมากในการที่จะได้เห็นผลงานของคุณ และตรวจสอบความถูกต้องของเมนูต่างๆ ว่าทำงานได้ถูกต้องตามความต้องการหรือไม่ ตอนแรกก็อาจจะใช้ภาพหลังฉากที่โปรแกรมมีมาให้ก่อน พอทำได้ ก็นึกสนุกอยากเปลี่ยนเป็นรูปที่เราชอบๆบ้าง ก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ อาจจะลองเปลี่ยนภาพเล็กของแต่ละแทร็คเป็นอย่างอื่นดู หรือจะลองใช้ภาพเคลื่อนไหวทำเป็นภาพหลังฉากก็ได้ เมื่อทุกอย่างลงตัวจึงใช้ไฟล์ที่ต้องใช้ทั้งหมดจริงๆ เสียเวลาครั้งเดียว หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า ลองฝึกฝีมือให้คล่องๆก่อนที่จะลงมือทำจริงๆ
และหากคุณทำไปแล้วและดี อยากจะเก็บไว้เป็นตัวอย่าง หรือเก็บเอาไว้กลับมาแก้ไขในภายหลัง ให้บันทึก Project ที่คุณทำเอาไว้ และสามารถมาเปิดดูหรือแก้ไขได้ในภายหลัง ให้เลือก Save Project ที่ปุ่ม Options
เมื่อคุณชำนาญขึ้น คล่องขึ้น (ชั่วโมงบินสูง-ว่างั้นเถอะ) ก็อาจจะทำเป็นแบบมี Chapter ให้เลือกก็ได้ (เหมือนกับ DVD ที่เราซื้อหรือเช่ามาดู) เช่นเมื่อเปิด DVD เข้ามา ก็จะมีเมนูให้เลือกว่า จะเล่นทั้งหมด หรือเลือกเล่นเฉพาะแทร็ค (ดูเป็นเรื่องๆไป) เมื่อเลือกเล่นเฉพาะแทร็ค ก็มีรายการแทร็คให้เลือกอีก (รายการหนังแต่ละเรื่อง) เมื่อเลือกเรื่องที่ต้องการเล่น ก็จะมี Chapter หรือตอนมาให้เลือกอีกว่า จะดูตรงช่วงไหนของเรื่อง เป็นต้น
>>> การแก้ปัญหา GOP ใน TMPGEnc DVD Author <<< ภาคเสริมของ การรวม VCD ลงแผ่น DVD
จากที่ได้นำเสนอเรื่อง "### การรวม VCD ลงแผ่น DVD ###" ไปทั้งสิ้น 3 ตอนด้วยกัน เชื่อว่ามีผู้ใช้หลายๆท่านที่มีปัญหาเรื่อง GOP กันบ้าง ไม่มากก็น้อย ทำให้ไม่สามารถทำการรวม VCD ได้ ดังนั้น จึงได้นำเสนอบทความเสริมออกมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
สำหรับการแก้ปัญหานั้น จะต้องใช้ TMPGEnc Plus ในการแก้ปัญหา
เมื่อเพิ่มไฟล์เข้าไปใน Track แล้วเกิดปัญหา
เปิดโปรแกรม TMPGEnc Plus แล้วเลือก Project Wizard เลือกไฟล์ที่มีปัญหา ทำการเข้ารหัสใหม่ เมื่อถึงขั้นตอนที่ 3 ให้คลิกปุ่ม Other settings
คลิกแท็บ GOP structure ในช่อง MAX number of frames in a GOP ให้พิมพ์เลข 15 เข้าไป (15 สำหรับ PAL และ 18 สำหรับ NTSC) จากนั้นทำตามขั้นตอนไปจนจบการเข้ารหัส เมื่อได้ไฟล์ที่เข้ารหัสใหม่แล้ว ก็จะสามารถนำไปเพิ่มใน Track ได้อย่างไม่มีปัญหา
Cradit คุณ ลิงกินผัก www.justusers.net