บทความอัพเดทในเว็บ ขออนุญาตอัพเดทช่องทาง https://fb.com/siamcafefan

ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จักผู้ก่อตั้ง “อ่อนนุช 20” กับการเป็น ผู้ให้บริการเกมในอุดมคติ  (อ่าน 2802 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

trazano

  • บุคคลทั่วไป

เมื่อพูดถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตัวผลักดันให้เกิดการขยายตัวอย่างแพร่หลายที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเกมออนไลน์ ที่แม้ว่า ขณะนี้ ธุรกิจเกมออนไลน์ จะมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงจากการที่มีผู้ประกอบการหลายราย อีกทั้งยังต้องฝ่าพันกับปัญหาด้านสังคมอีก ที่บรรดาผู้ปกครองต่างมองว่าเกมออนไลน์ยังเป็นตัวมอมเมาบุตรหลาน

ทั้งที่จริงๆ แล้ว การที่เด็กเล่นเกมออนไลน์ คือ แรงกระตุ้นให้พวกเขาได้รู้จักใช้คอมพิวเตอร์ ไม่กลัวเทคโนโลยี อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดจากคนเล่นเกม กลายเป็นคนทำเกมได้ หรือหากเล่นเกมเก่งมากๆ ก็อาจก้าวสู่การเป็นนักเล่นเกมอาชีพ เหมือนในต่างประเทศที่ทำรายได้ดี

เกมออนไลน์ในเมืองไทยมีมากมายหลายเกม ทำอย่างไรที่จะสร้างความแตกต่างทั้งในด้านตัวเกมที่ต้องไม่เหมือนใคร และการบริการที่ต้องแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

สิ่งเหล่านี้ เป็นความคิดในหัวของผู้บริหารหนุ่มไฟแรง “วฤธ วงศ์ศรีรุ่งเรือง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อ่อนนุช 20 จำกัด มานานนานอล้ว จนกระทั่งตัดสินใจก้าวมาเป็นผู้ให้บริการเกมวันเดอร์แลนด์ ออนไลน์ ที่ต้องการทำให้บริการเกมออนไลน์เป็นมากกว่าการเล่นแค่สนุก แต่ต้องสอดแทรกสาระความรู้ หรือ เข้ามาเป็นเพื่อนเกมเมอร์ในทุกเวลา ไม่ใช่แค่ผู้คุมกฎในเกม

ส่วนจะเป็นจริงได้มากแค่ไหน และอะไรเป็นแรงบันดาลใจของเขา เชิญติดตามได้ ณ บัดนี้...

IT Digest: จุดเริ่มต้นของ อ่อนนุช 20 เป็นมาอย่างไร

วฤธ: บริษัทเราก่อนหน้านี้ อยู่ในกลุ่มของผู้ที่ไปลงทุนทำระบบโทรคมนาคมที่ประเทศลาว คือ มีธุรกิจเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และกำลังจะให้บริการมือถือระบบ CDMA ประมาณช่วงเดือน เม.ย.2551 นี้ พื้นฐานจะเป็นทางด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคเป็นหลัก มีอยู่ช่วงหนึ่งว่างกันไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ก็มานั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ด้วยความที่ชอบเล่นอยู่แล้ว แต่ยังหาเกมที่ถูกใจไม่ได้ เลยคิดว่าถ้าหาเกมเล่นไม่ได้ ทำไมไม่ให้บริการเกมเองไปเลย หลังจากกลับจากลาวก็มาคิดว่า คงต้องแยกบริษัทออกมาจากบริษัทแม่ คือ สกายเทล แอนด์เน็ต จำกัด และธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่ม

เมื่อมาที่สำนักงานก็คิดชื่อบริษัทไม่ออกสุดท้าย ก็มองว่าเอาชื่อที่อยู่ของบริษัทแล้วกันง่ายดี เลยกลายมาเป็น อ่อนนุช 20 หลังจากนั้น ก็มาคุยกับทีมงานที่ออฟฟิศ อยากได้เกมที่เล่นสบายๆ โดยพยายามไปหาคนรู้จักพรรคพวกเพื่อนฝูงที่มีความรู้ ก็มาคิดว่าธุรกิจให้บริการเกมออนไลน์ สามารถทำให้ดีได้ เพราะหากย้อนไปเป็นคนเล่นเกม เวลาเราเล่นเกมย่อมต้องการบริการที่ดี แต่ความจริงแล้วเวลามีปัญหา โทรไปคอลเซ็นเตอร์ ทางเกมมาสเตอร์ หรือ GM ก็ตอบไม่ได้ดั่งใจ อ่อนนุช 20 จึงอยากที่จะสร้างมาตรฐานในการให้บริการ และทำธุรกิจเกมออนไลน์ใหม่ มองว่าธุรกิจเกมออนไลน์น่าจะเป็นคอนเทนท์ที่ต่อยอดธุรกิจได้ เหมือนกับที่ ทางทีโอที มีเกมเทลส์รันเนอร์ แต่เรามองว่าขนาดบริษัทที่เล็กกว่า น่าจะทำงานได้คล่องตัวมากกว่า

IT Digest: อะไรทำให้บริษัท เลือกให้บริการเกมวันเดอร์แลนด์ ออนไลน์ รวมทั้งแนวทางการคัดเลือกเกมออนไลน์เข้ามาให้บริการ

วฤธ: เกมวันเดอร์แลนด์ เป็นเกมที่เราอยากทำอะไรให้ดี เป็นเกมสีขาวที่ไม่มีการรบราฆ่าฟัน เลือดท่วมจอ แต่เป็นเกมที่ดูน่ารัก เล่นแล้วจะเพิ่มทักษะความรู้ โดยนอกจากเป็นเกมแบบ MMORPG ที่คุ้นเคยกันดี ยังมีฟังก์ชันพิเศษเรียกว่า Combination ที่เป็นการรวมไอเท็ม 2 อย่าง เป็นของใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโหมดคำถามภายในเกมที่เป็นคำถามภาษาไทย เกี่ยวกับความรู้รอบตัว ครอบคลุมไปเกือบทุกสาขาวิชา

เราอยากให้ลูกค้ารู้ว่าเล่นเกมไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ให้เด็กได้อะไรมากกว่าที่คิด โดยทางพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นเกมแล้วก็สนับสนุน อยากให้ลูกเล่น จะมีข้อเสียแค่เกมของเราจะมีภาพเป็นแบบ 2 มิติ และตัวละครจะออกเป็นแนวการ์ตูนญี่ปุ่น แต่มีความน่าสนใจ อาทิ การเลี้ยงคุณ หรือจับมอนสเตอร์มาเพื่อใช้งาน โดยธีมเกมรวมๆ ออกแนวผจญภัย ที่ตลาดเกมออนไลน์กลุ่มเกมผจญภัยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 20-30%

เนื่องจากบริษัทของเราเป็นบริษัทใหม่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความแตกต่าง เฉพาะในเกมนี้ยังมีมินิเกมอีกมากมาย เกมอะไรที่คนอื่นๆ มี เราก็มีหมด ติดอยู่ก็แค่รูปเป็น 2 มิติ แต่ถ้าเป็นคนเล่นเกมคงไม่เอาเรื่องนี้มาคิดเป็นประเด็นในการตัดสินใจเล่นอยู่แล้ว

IT Digest: บริษัท มีบริการและผลิตภัณฑ์ด้านใดบ้างในขณะนี้

วฤธ: สำหรับบริการของเราเนื่องจากทางบริษัทต้องการต่อยอดธุรกิจเดิม จึงจำเป็นต้องทำธุรกิจให้ครบทุกด้าน เพื่อให้อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง และสร้างนวัตกรรม และบรรทัดฐานใหม่ ไม่ได้เข้ามาหวังผลกำไรแบบขูดเลือดขูดเนื้อ เพราะราคาไอเท็มที่ขายก็ถูกกว่าผู้ให้บริการรายอื่น 30% เรายังพอเห็นช่องว่างในการทำกำไร ก็เลยเสนอในราคาที่ผู้บริโภครับได้ และเราก็พออยู่ได้ เมื่อได้กำไรมาแล้วต้องตอบแทนให้สังคมในสัดส่วนที่สมน้ำสมเนื้อกัน

ส่วนตัวผมไม่อยากให้การตอบแทนสังคมเป็นแค่การมอบเงินทำบุญ ถามว่าแล้วผลที่ตอบแทนสังคมจริง คือะไร ความปรารถนาของบริษัท คือ การที่ต้องทำเรื่องใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม เช่น GM สามารถอยู่ตอบคำถามลูกค้าที่โทรเข้ามาตลอด 24 ชั่วโมงได้หรือไม่ คุยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเกมได้ไหม หรือเล่นเกมให้ผ่านไปพร้อมกับผู้เล่นได้หรือไม่ เพราะเราต้องการให้ GM มีเลเวลต่ำกว่าลูกค้า แล้วเก็บเลเวลโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เก่งเป็นเทพ ต้องเป็นธรรมกับผู้เล่นให้มากที่สุด

ตรงนี้หากบริการที่ออกไปไม่ดี คนไม่ชอบเราก็เปลี่ยนใหม่ได้ อะไรทำแล้วดีก็เอาไว้ แต่ถือว่าเราเองได้ลองอะไรใหม่ๆ ให้กับสังคม เราขออาสามาสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมเกม สำหรับอ่อนนุช 20 มีทุนด้านวิจัยและพัฒนาเกม ขณะที่อีกส่วนเป็นทุนด้านตอบแทนสังคม ที่เข้ามาอุดหนุนอยู่ นี่เป็นเหตุผลที่เราไม่ต้องขูดเลือดขูดเนื้อ แค่หวังว่าจะหาอะไรมาต่อยอดธุรกิจในอนาคต เวลานี้ก็มีฐานลูกค้าอยู่ในมือ อนาคตจะทำอะไรก็ได้หมด

ที่สำคัญทั้งผู้เล่น และผู้ให้บริการต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะธุรกิจที่เอาเปรียบลูกค้าจะอยู่ได้ไม่นาน ช่วงแรกยอมรับว่า ค่อนข้างจะอิงกับอุดมคติมากเกินไป ทำให้ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เลยจับตลาดนิชมาก คือ มีแต่คนที่คิดแบบเดียวกัน หรือต้องการในสิ่งที่ทางอ่อนนุช 20 มี แต่จากนี้ไปเราคงจะมีกิจกรรม หรือการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

IT Digest: กลยุทธ์ และเป้าหมายในการทำตลาดปี 2551 มีอะไรบ้าง

วฤธ: สำหรับเป้าหมายปี 2551 เราอยากขยายฐานลูกค้า และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในฐานะบริษัทที่มีบริการ และธรรมาภิบาลที่ดี บริษัทฯ จึงร่วมกับ บริษัท COMPGAMER จำกัด และ บริษัท FUTURE GAMER จำกัด เปิดตำนานบทใหม่ จัดกิจกรรมแข่งขันเพื่อวัดความสามารถในการเล่นเกม WL ระยะเวลา 30 วัน ชิงรางวัลทุนการศึกษา 1,000,000 บาท โดยประเดิมครั้งแรกเพื่อฉลองเทศกาลตรุษจีน เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา สำหรับกิลด์ต่างๆ ที่ผ่านรอบคัดเลือกจากกิจกรรมง่ายๆ สนุกสนานในแต่ละวัน จะผ่านเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันเดอร์แลนด์เดย์ ครั้งที่1 (วันเสาร์ที่ 22 มี.ค.2551) เพื่อร่วมค้นหาสุดยอดแฟนคลับ WL ของประเทศ ที่จะได้รับทุนการศึกษา 1,000,000 บาท ที่เราขอย้ำว่าโดนหลอกแดกจริง

ที่ต้องจัดกิจกรรมแบบนี้ก็เพื่อสร้างมาตรฐานให้เห็นไปเลยว่าเล่นเกมเก่งแล้วได้อะไร สร้างให้เกิดวงการอี-สปอร์ตเกิดขึ้นในเมืองไทย คนจะได้รู้ว่าเราเองก็พูดจริงทำจริง ที่ผ่านมาคนในสังคมมองเกมออนไลน์เป็นสิ่งไม่ดี ความจริงแล้วไม่ใช่เกมที่ไม่ดี แต่คนเล่นต่างหากที่ไม่รู้จักขอบเขต เล่นมากเกินไป งานครั้งนี้ จะทำให้วงการอี-สปอร์ตกลายเป็นพื้นที่สำหรับมืออาชีพ เหมือนที่ในต่างประเทศมีกัน เราอยากให้เกมเมอร์รู้ว่าอาชีพนี้มีค่าตอบแทนสูง ไม่ใช่แข่งทั้งปีได้เงิน 2-3 หมื่นบาท แต่ต้องจัดการแข่งขันเป็นทัวร์นาเมนท์ตลอดปี

ส่วนตัวเชื่อว่า คนไทยเองมีทักษะการเล่นเกมดีไม่แพ้คนต่างชาติ ขนาดเราเล่นแบบมือสมัครเล่น ยังเอาชนะมืออาชีพได้ อีกทั้งเกมกีฬาก็มามากมายหลายแบบ ไม่ใช่เกมพนันแบบที่คิดกัน ตรงนี้จะไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตโดยรวม ทำให้มีคนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ร้านอินเทอร์เน็ตค่าเฟ่ก็ไม่ต้องปิดตัว อีกทั้งยังสร้างชุมชนของนักเล่นเกมไปในตัว ที่ผ่านมามองว่าเกมเป็นของไม่ดี เลยทำให้ไม่มีใครมาติดต่อยอด

IT Digest: มองภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นไทยอย่างไร

วฤธ: วันนี้ หากดูจำนวนผู้เล่นเกมออนไลน์มีประมาณ 2 ล้านคน จากเดิมคนเล่นมีแค่ 7 แสนกว่าคนเท่านั้น ขณะที่มูลค่าการตลาดน่าจะประมาณ 5,000 ล้านบาท เมื่อเทียบจากจำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์ประมาณ 5 แสนพอร์ท ที่ส่วนมากอยู่ในกลุ่มคนทำงาน แต่เมื่อเกมออนไลน์ช่วยขยายตลาดและบริการบรอดแบนด์ให้สูงขึ้น ขณะที่เมื่อดูกลุ่มคนที่เล่นเกมออนไลน์ เด็กที่เล่นเกมออนไลน์จะมีความคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ และกล้าใช้เครื่องมากกว่าผู้ใหญ่ที่กลัวของพัง เท่ากับว่าเกมออนไลน์ช่วยพัฒนาศักยภาพของเขา

ขณะเดียวกัน ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือร้านเกมก็สามารถอยู่รอดได้ เพราะสามารถใช้เกมออนไลน์เป็นตัวชู ที่จริงแล้วเด็กที่เข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ไม่ได้เข้าไปเล่นเกมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเข้าไปใช้บริการแชท เล่น MSN หรือเข้าเว็บไซต์เพื่อตามดูข่าวสาร สาระที่ตัวเองสนใจ จะเห็นว่าเรื่องนี้ ถ้าให้ทำดีๆ เราจะได้อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในเมื่อประเทศไทยไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก ทำไมภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชนไม่มานั่งคุยกันบ้าง ในการดึงเอาเกมออนไลน์ หรืออุตสาหกรรมเกมมาพัฒนาประเทศ

ภาครัฐอาจจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และกฎหมาย เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ถ้าเราไม่มองบริษัทอื่นๆ เป็นคู่แข่ง หรือไม่มองว่าเกมออนไลน์เป็นเรื่องไม่ดี จะเป็นการต่อยอดนำเอาธุรกิจมาพัฒนาให้ดีขึ้น หากพี่ๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ทำเองไม่ไหว หรือยังไม่พร้อมทำ แล้วทำไมไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ หรือน้องใหม่ในวงการลองทำดูบ้าง เพราะกว่าที่รายใหญ่ๆ จะพร้อมตลาดอาจจะวายไปแล้ว ทั้งนี้ เราพร้อมที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงเท่าที่เราจะมีแรงทำงานอยู่

IT Digest: คิดว่าธุรกิจเกมออนไลน์ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือไม่อย่างไร

วฤธ: จำเป็นมากสำหรับทั้งนักพัฒนาเกม และนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุน เพราะในมุมของธุรกิจเรายินดีกับทุกรัฐบาลที่เข้ามาทำงาน ยินดีเปิดรับทุกนโยบายการพัฒนา แต่รัฐบาลต้องทำจริงจัง ชัดเจน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เพราะนักธุรกิจทุกรายย่อมต้องการความแน่นอน แต่เมื่อความไม่มั่นคง ไม่แน่นอนมีมากกว่า นักลงทุนก็ไม่กล้าที่จะลงทุนในระยะยาว เพราะเกมเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลามาก เขาก็เลือกลงทุนกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซื้อมาแล้วขายไป ที่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครชอบ

ลองดูตัวอย่างในประเทศพม่า หรือลาว รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ต่างมุ่งเน้นชัดเจนไปในทางเดียว แม้ตลาดที่ว่าทำยากยังมีคนไปทำ แล้วตลาดเมืองไทยที่ง่ายกว่ามาก ทำไมจะมาลงทุนกันไม่ได้ หรือเราจะรอให้ฝรั่งผมทองมาลงทุนแล้วโกยเอาเงินกลับไปประเทศของเขา เวลานี้ เราทำตัวเป็นฝรั่งผมดำไปทำธุรกิจในต่างประเทศ แล้วเอาเงินมาให้เมืองไทย ทั้งที่ใจจริงเราเป็นคนไทยก็อยากทำธุรกิจในเมืองไทย แต่ในเมืองนอกดีกว่ามั่นคงกว่า ก็ต้องเลือกในทางนั้น ด้วยเหตุผลของการเอาตัวรอดในธุรกิจ

IT Digest: อยากฝากถึงผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์บ้าง

วฤธ: อยากจะให้ผู้อ่านทุกคนลองเปิดใจหันมาเล่นเกมเราดู เราเข้ามาทำธุรกิจนี้ ด้วยการเสนอตัวเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในอุดมคติ ที่ไม่ได้ต้องการให้คุณมานั่งเล่นเกมกันเพียงอย่างเดียว แต่เราให้อะไรที่มากกว่า ทั้งการเพิ่มส่วนเสริมทักษะความรู้รอบตัว โดยการเสนอเกมที่มีเนื้อหาไม่รุนแรง อยากให้ทุกคนได้ลองเล่นเกมวันเดอร์แลนด์ดู ไม่จำเป็นต้องเล่นมากๆ ก็ได้ ขอให้เล่นเกมแล้วมีความสุขก็เพียงพอแล้ว


ไทยรัฐ ออนไลน์

ออฟไลน์ sakda3333

  • นักเรียนประถม
  • ****
  • กระทู้: 72
  • Reputation: 0
เกมอะไร ไม่รู้จักเลย555+  เด็กไม่มีถามถึงเลย
Signature cleanned by Admin

DInAmIC

  • บุคคลทั่วไป
เป็นกำลังใจให้ครับ คิดดีทำดี สิ่งดีๆก็ตามมา อิอิ

mitnaja

  • บุคคลทั่วไป
จะรอเล่นนะคับ